วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เครื่องมือห่อไม้ผลแบบต่อเนื่อง



ชื่อผลงาน เครื่องมือห่อไม้ผลแบบต่อเนื่อง
ชื่อเจ้าของผลงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สห  ตุลพงศ์ , นายธวัช  เรือนคำงาม
ภาคไม้ผล  คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
รางวัลที่ได้รับ อยู่ระหว่างดำเนินการขอจดอนุสิทธิบัตร (ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลบางส่วนไปแล้ว จึงทำให้ไม่สามารถขอจดสิทธิบัตรได้) โดยยูบีไอ/แม่โจ้
แหล่งทุนวิจัย ทุนส่วนตัว
เนื้อหาผลงานโดยสังเขป
การคิดค้นและประดิษฐ์เครื่องห่อผลไม้ต้นแบบนี้มีขึ้นเพื่อจะช่วยลดปัญหาและพัฒนาคุณภาพผลผลิตดังที่กล่าวมาแล้ว ยังจะช่วยลดต้นทุนการผลิตผลไม้ ซึ่งในปัจจุบันมีราคาต่อหน่วยการผลิตสูงกว่าในอดีตมาก ขณะที่ราคาผลผลิตกลับตกต่ำมาโดยตลอด ทั้งเครื่องห่อผลไม้บนต้นที่มีใช้อยู่อย่างไม่แพร่หลายนักในปัจจุบันสามารถห่อได้ครั้งละ 1 ผล แต่เครื่องห่อผลไม้ชนิดใหม่นี้สามารถห่อด้วยกระดาษได้ไม่น้อยกว่า 10 ผลต่อครั้งหรือ 10 ครั้งติดต่อกัน จึงทำให้การห่อผลไม้สามารถทำได้ค่อนข้างต่อเนื่อง สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้นกับผลไม้ที่ห้อยอยู่บนต้นและได้ผลไม้ดี มีคุณภาพตามที่ต้องการ
เครื่องห่อผลไม้ต้นแบบต่อเนื่องนี้จะใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา ราคาถูก มาเป็นส่วนประกอบในการประดิษฐ์ ภายหลังจากการประกอบเป็นตัวเครื่องแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้ เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 500 บาทต่อเครื่อง (ถ้ามีการปรับปรุงและทำการผลิตครั้งละหลายๆเครื่องราคาต้นทุนจะลดลงมากกว่านี้แน่นอน) จะมีน้ำหนักประมาณ  0.90 กก. และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 1 กก. หลังจากบรรจุกระดาษห่อผลจำนวน 10 แผ่นลงในกระบอกบรรจุกระดาษ และยาง (ยืด) รัดจำนวน 5 เส้น
เครื่องห่อผลไม้มีส่วนประกอบสำคัญๆ ดังนี้
1. กระบอกบรรจุกระดาษหรือท่ออะลูมิเนียมบาง ทรงกลม เปิดหัวท้าย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9.20 ซม. ยาว 25 ซม. เพื่อใช้บรรจุกระดาษหนังสือพิมพ์สำหรับห่อผลไม้และใช้สำหรับติดตั้งกลไกควบคุมการทำงานของเครื่องดังกล่าว
image004image001
กระบอกอลูมิเนียม
2. ตัวบังคับการเคลื่อนตัวของกระดาษจำนวน 2 ตัว จะติดอยู่บนกระบอกทรงกลม (1.) ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้บังคับการเคลื่อนตัวของแผ่นกระดาษออกจากกระบอกทรงกลม (1.) ทีละแผ่นเพื่อใช้ห่อผลไม้แต่ละผลหรือแต่ละครั้ง
image008image006
3. สายพานส่งลำเลียงยาง (ยืด) รัดปลายกระดาษที่ถูกส่งออกจากกระบอกบรรจุกระดาษกับก้านหรือขั้วผลไม้จำนวน 3 ชิ้นภายใต้การควบคุมของ 2. ให้ยึดติดกับก้านหรือขั้วผล โดยมีกลไกบังคับให้สายพานเคลื่อนตัวและปล่อยยางยืดไปรัดที่ขั้วผลทีละ 1 เส้น
image010image012
4. ด้ามจับ ใช้ท่ออะลูมิเนียมยาวประมาณ 2 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.50 ซม ด้านปลายท่อจะติดกับส่วนที่ 1. 2. 3. และ 7. ส่วนโคนติดกับส่วนที่ 5.
5. คันบังคับหรือคันบีบ (คล้ายเบรกมือรถจักรยาน) และด้ามจับสำหรับบังคับกลไกต่างๆ ระหว่างการทำงานของเครื่องห่อผลไม้
6. เชือกและลวด สำหรับผูกยึดติดกับระบบบังคับกลไกต่างๆ และโยงยาวลงไปถึงคันบังคับ (5.)
7. ตัวควบคุมยาง (ยืด) รัด เป็นส่วนเล็กๆสำหรับดึงยางรัด เพื่อให้สายพานส่งลำเรียงเคลื่อนตัวได้สะดวก
image014
การทดลองห่อผลไม้โดยใช้เครื่องต้นแบบที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่นี้ได้ทำกับมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์  โดยใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ทั่วไป ซึ่งจะมีราคาถูก หาได้ง่าย ป้องกันแสงแดด นก ค้างคาว แมลงศัตรูพืชได้ดีและย่อยสลายได้ง่ายในธรรมชาติ หนังสือพิมพ์ 1 คู่สามารถห่อผลมะม่วงได้ 4-6 ผล ในครั้งหนึ่งๆทดลองบรรจุกระดาษหนังสือพิมพ์ลงในกระบอกจำนวน 5 และ 10 แผ่น ใช้ระยะเวลาติดต่อกัน 3 ชั่วโมง พบว่าถ้าบรรจุกระดาษหนังสือพิมพ์กระบอกละ 5 แผ่น จะห่อผลมะม่วงได้จำนวน 213 ผล (71 ผลต่อชั่วโมง) และ 10 แผ่น จำนวน 255 ผล (85 ผลต่อชั่วโมง) เครื่องห่อผลไม้ต้นแบบนี้ จะไม่ทำให้ผลมะม่วงร่วงหล่นหรือเสียหายเลย ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือสามารถห่อผลมะม่วงที่มีความสูงจากพื้นดินมากกว่า 1.50 เมตรขึ้นไปได้ดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสูงของผู้ห่อผลมะม่วงรวมกับความยาว (2 เมตร) ของด้ามจับๆ ยังสามารถขยายความยาวออกไปได้อีกตามความต้องการของผู้ใช้ ถ้ามีการปรับปรุงการทำงานของเครื่องแล้วเชื่อว่าสามารถเพิ่มจำนวนการห่อผลไม้ต่อชั่วโมงได้
image016image018
ลักษณะเครื่องห่อผลไม้หลังประกอบเสร็จสมบูรณ์ลักษณะหลังการห่อผลมะม่วงที่สวยงามด้วยเครื่องห่อผลไม้ต้นแบบ
ประโยชน์ที่ได้รับจากผลงาน 
1. เครื่องห่อผลไม้แบบต่อเนื่องนี้ สามารถใช้ห่อผลไม้ที่ห้อยติดอยู่บนต้นได้รวดเร็วกว่า
5-10 เท่าของเครื่องห่อผลไม้ที่พบเห็นอยู่ทั่วไปในประเทศไทย
2. เครื่องห่อผลไม้แบบต่อเนื่องนี้มีน้ำหนักเบา วัสดุสามารถหาได้ทั่วไป
3. เครื่องห่อผลไม้แบบต่อเนื่องนี้มีราคาถูก และใช้ได้ทนทาน
4. เครื่องห่อผลไม้แบบต่อเนื่องนี้ถือเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับการทำสวนผลไม้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น